เข็มสาวดอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กสูง ๑-๒.๕ ม. ยอดอ่อนมีขน ร่วงเมื่อแก่ เปลือกเรียบเป็นมันสีขาวหรือสีฟางแห้ง กิ่งเปราะและหักง่าย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับแต่ละคู่ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๕-๖ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามลำต้นกิ่ง หรือปลายกิ่ง ช่อยาว ๓.๕-๗ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ช่อย่อยมี ๓-๔ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปโถหรือรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ส่วนปลายยื่นยาวออกเป็นหาง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. เมื่อบานปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ด้านนอกเกลี้ยงด้านในมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ติดภายในหลอดกลีบดอก มี ๒ แบบ คือ ติดบริเวณโคนหลอดหรือปากหลอด อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๓-๘ มม.
ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ผลแก่สีขาว มีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดเล็ก จำนวนมาก รูปลิ่ม สีดำ
เข็มสาวดอยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและจีนตอนใต้.