ตานนมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. ลำต้น กิ่ง และใบมีน้ำยางสีขาว กิ่งคล้ายทรงกระบอก มีขนสั้นหนาแน่น เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง อาจมีหนาม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๖.๕-๑๒ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือมีขนสั้นทางด้านล่าง เส้นกลางใบนูนทางด้านบน มนกลมและเห็นชัดทางด้านล่าง มีขนสั้นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. มีขนสั้นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนหนาแน่น
ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ มี ๓-๗ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ดอกสีนวลหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๓ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๘-๓ มม. ยาว ๓.๕-๕.๕ มม. มีขนคล้ายไหม ยกเว้นที่โคนด้านในเกลี้ยง กลีบวงกลาง ๒ กลีบ รูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๓-๕.๖ มม. บางครั้งเป็นสัน ขอบเป็นเยื่อ มีขนคล้ายไหม ยกเว้นที่โคนด้านในเกลี้ยง กลีบวงในสุด ๑ กลีบ รูปไข่แคบ กว้าง ๒.๖-๒.๗ มม. ยาว ๓-๕.๒ มม. บางเป็นเยื่อ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๖-๒.๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑.๓ มม. ยาว ๒.๓-๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาว ๓-๓.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปลิ่ม ยาว ๑.๗-๒.๓ มม. อับเรณูรูปหัวลูกศร ยาว ๑.๘-๒.๔ มม. แกนอับเรณูยาว ๐.๒-๐.๙ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปช้อน กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๓-๓.๘ มม. เกลี้ยง ปลายคล้ายเส้นด้าย ขอบเรียบ จักฟันเลื่อย หรือหยักเป็นคลื่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนแข็งสีเหลืองอ่อน มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้าย ยาว ๘.๕-๙ มม. มี ๕ สัน เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. เมล็ดแบน รูปรี สีน้ำตาล มี ๑-๓ เมล็ด
ตานนมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ผลกินได้ ใช้เป็นสมุนไพร.