ตับเต่าเล็กเป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินเป็นไหล รูปทรงกระบอกเรียวยาว แตกแขนง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน ก้านใบออกจากข้อตรงปลายลำต้น แผ่นใบลอยบนผิวน้ำรูปกลมแกมรูปไข่ กว้างและยาว ๓-๔ ซม. ปลายมนกลมถึงค่อนข้างแหลม โคนรูป
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกใกล้โคนก้านใบ ก้านดอกยาว ๓-๔.๕ ซม. ชูดอกเหนือน้ำ แต่ละช่อมี ๒-๑๐ ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปไข่ ปลายมน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมน กลางแฉกมีสันเป็นครีบจากโคนถึงปลาย บางย่น ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนแฉกด้านในสีเหลือง มีขนต่อม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดภายในคอหลอด ก้านชูอับเรณูรูปแถบ ยาว ๑-๒ มม. อับเรณู ๒ ช่อง เมื่อแก่แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ พู ภายในมี ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยก เป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. เมล็ดสีน้ำตาล รูปทรงกลม มี ๖-๑๐ เมล็ด
ตับเต่าเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง พบขึ้นตามแหล่งน้ำจืดที่น้ำไม่ลึกมากหนองน้ำ คูคลอง และนาข้าว ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไต้หวัน เวียดนาม จนถึงออสเตรเลีย.