ดาวมรกต

Abutilon substellatum Phuph. et Poopath

ไม้พุ่มเล็ก ทั้งต้นมีขนนุ่มรูปดาวขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง รูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม หูใบรูปเส้นด้าย ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลือง โคนสีขาว และมีเส้นตามยาวสีเขียว ผลคล้ายผลแห้งแยก รูปดาว สีเขียว เมล็ดรูปไต มีขน


     ดาวมรกตเป็นไม้พุ่มเล็ก สูง ๐.๓-๑.๕ ม. ทั้งต้น มีขนนุ่มรูปดาวขนาดเล็ก
     ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง รูปไข่กว้างถึงค่อนข้าง กลม กว้าง ๓.๕-๑๐ ซม. ยาว ๓.๕-๑๒.๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือกลมมน โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ค่อนข้างตื้น ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ มีเส้นโคนใบ ๕-๙ เส้น และเส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น เส้นใบย่อย เห็นไม่ชัด ด้านบนสีเขียว มีขนรูปดาวขนาดเล็ก ด้านล่างสี เขียวอ่อน มีขนรูปดาวขนาดเล็กหนาแน่น ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๔-๑๔ ซม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๕ มม. ร่วงง่าย มีขนรูปดาวหนาแน่น
     ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ เมื่อบานเส้นผ่าน ศูนย์กลาง ๓-๓.๕ ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๓-๔ ซม. มีข้อต่อใกล้ปลายก้าน บริเวณปลายก้าน ตลอดจนถึง ต่ำกว่าข้อต่อเล็กน้อย มีขนแข็งหนาแน่นตั้งฉากกับก้าน ไม่มีริ้วประดับ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูประฆัง ยาว ๔-๕ มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก เป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขนรูปดาวขนาดเล็กหนาแน่น ด้านในมีขนธรรมดา หลอดกลีบเลี้ยงมีขนแข็งและตั้งฉาก กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง โคนสีขาว และมีเส้นตาม ยาวสีเขียว รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ปลายมนกลมหรือ ตัด โค้งลงเล็กน้อย โคนแคบและมีขนรูปดาวหนาแน่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็น หลอด ยาว ๕-๖ มม. โคนหลอดป่อง สีขาว มีขนรูปดาว หนาแน่น ปลายหลอดรูปทรงกระบอก สีเขียว เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูที่ปลายหลอดแยกเป็นอิสระ สีขาว เกลี้ยง อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวอ่อน รูปดาวขนาดเล็ก แบน เล็กน้อย มี ๖-๘ แฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๕ มม. มี ๖-๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลประมาณ ๓ เม็ด ก้านยอด เกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๖-๘ แฉก สีเขียว ยาว ไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
     ผลคล้ายผลแห้งแยก รูปดาว สีเขียว โดยทั่วไปมี ๖-๗ แฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๘-๒.๒ ซม. หนา ๓-๔ มม. มี ๖-๗ ช่อง แต่ละช่องมีสันตามยาว ด้านนอกมีขน หนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ปลายแฉกมีรยางค์แหลมคล้าย หนาม เมื่อแก่แตกจากปลายแฉกไปหาโคน แต่ละช่องมี ๑-๓ เมล็ด รูปไต กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๒ มม. สีน้ำตาล มีขนธรรมดา

 

 

 

 

 


     ดาวมรกตเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตามหินปูนในป่าเบญจพรรณ ที่สูง จากระดับทะเลประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผล เดือนมกราคมถึงมีนาคม.

 

 

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดาวมรกต
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abutilon substellatum Phuph. et Poopath
ชื่อสกุล
Abutilon
คำระบุชนิด
substellatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Phuph. et Poopath
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Phuph. ช่วงเวลาคือ (1936-)Poopath ช่วงเวลาคือ (-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.