ชะบาป่าเป็นไม้พุ่มทอดเลื้อยอิงอาศัย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกม รูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๖-๒๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ส่วนปลายสุดคอดเรียว ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. โคนรูปลิ่มกว้างหรือมน เป็นครีบแคบ ๆ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นไม่ค่อยชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. หูใบอยู่ตรงซอกใบ ยาวประมาณ ๓ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกกลม ออกตามปลายกิ่งไร้ก้าน มี ๑-๖ ดอก ก้านดอกสั้นมาก มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก ๑-๒ คู่ ดอกเมื่อแรกบานสีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้มอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๐.๕-๑ ซม. อวบหนาคล้ายแผ่นหนัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๒-๕ มม. ขอบกลีบบาง เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม กลีบดอกอวบหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกแคบและเรียว ยาว ๘-๙ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกกลับ ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายมนกลม บิดเวียนในดอกตูม เรียงซ้อนทับกันไปทางขวา เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูโคนกว้าง อับเรณูติดที่ฐาน รูปขอบขนานหรือรูปรียาวประมาณ ๔ มม. แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มี ๑-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้ายถึงรูปทรงกระบอก ยาวเท่าหลอดกลีบดอกหรือยาวกว่าเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. สีเขียวอมเทา เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดงเข้มมีส่วนโคนก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดเล็กสีน้ำตาล มีจำนวนมาก รูปทรงไม่แน่นอน ขนาดประมาณ ๑ มม. เป็นเหลี่ยม
ชะบาป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าพรุ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา.