ค่าหดชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. โคนอาจมีพูพอนขนาดเล็ก
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่กึ่งปลายคี่ เรียงเวียนก้านใบยาว ๘-๑๖ ซม. แกนกลางใบยาว ๑๐-๓๔ ซม. สีค่อนข้างดำ เกลี้ยงหรือมีขน มีใบย่อย ๘-๑๑ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๓.๕-๘ ซม. ยาว ๖-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมค่อนข้างสั้น ปลายสุดแหลมหรือมนโคนเบี้ยว สอบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบแต่ใบอ่อนขอบอาจหยัก แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนาผิวเกลี้ยงหรือมีขน ด้านล่างและตามเส้นใบด้านล่างมีขนและอาจมีเกล็ดสีเทา เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบย่อยสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๘ มม. ไม่มีหูใบ
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อหางกระรอก ช่อย่อยช่อปลายยาวกว่าช่อย่อยอื่นและเป็นดอกเพศเมีย ส่วนช่อย่อยบริเวณโคนมี ๒-๕ ช่อ และเป็นดอกเพศผู้ ดอกเล็ก เชื่อมติดกับใบประดับย่อยใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูป ๓ แฉก กลีบรวมสีเขียวอ่อนโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ช่อดอกเพศผู้
ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. มีขน มีโคนใบประดับหุ้ม แฉกใบประดับเป็นปีก ๓ ปีก ยาว (๒-)๓-๔(-๗) ซม. ผลออกรวมเป็นช่อยาว (๑๒-)๒๑-๔๐(-๖๐) ซม. ก้านช่อยาว ๒-๑๑ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผล
ค่าหดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ตามป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๘๐-๑,๗๐๐ ม.ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.