กระทุ่ม

Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich. ex Walp.

ชื่ออื่น ๆ
กระทุ่มบก, ตะกู, ตะโกส้ม (กลาง); ตุ้มขี้หมู (ใต้); ตุ้มหลวง (เหนือ); ทุ่มพราย (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ผิวใบด้านล่างมีขน หูใบปลายเรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปหลอดเล็ก สีเหลืองอ่อนหรือขาวนวล ผลเป็นผลรวม อุ้มน้ำ แก่จัดสีเหลืองหรือแสด

กระทุ่มเป็นไม้ต้น ลำต้นตรง สูง ๑๕-๓๐ ม. เปลือกสีเทาแก่ มีรอยแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๗.๕-๑๗.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ปลายแหลม แผ่นใบบาง เหนียวด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขน มีเส้นแขนงใบประมาณข้างละ ๑๐ เส้น เห็นเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน มีหูใบระหว่างก้านใบ เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกเดี่ยวตามปลายกิ่งเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. สีเหลืองอ่อนหรือขาวนวล มีกลิ่นหอม ดอกเล็ก อัดกันแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายจักแหลม กลีบดอก ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายหยักมนแผ่ขยายออก มีขนนุ่มทางด้านนอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ด้านบนมี ๒ ช่อง ด้านล่างมี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลเป็นผลรวม อุ้มน้ำ เกิดจากวงกลีบเลี้ยงของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลแก่จัดสีเหลืองหรือแสด เมล็ดเล็ก

 กระทุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้นใกล้น้ำ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ใบและเปลือกต้นกระทุ่มมีสารแอลคาลอยด์หลายชนิด (Sahu et al, 1974; Brown and Fraser, 1974; Brown and Chapple, 1976) ได้มีการนำแอลคาลอยด์ 3 α- dihydrocadambine มาศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหนูขาวพบว่าสามารถลดความดันโลหิตได้ และออกฤทธิ์อยู่ได้นาน (นิจศิริ, ๒๕๒๑; ผ่องพรรณ, ๒๕๓๗)

 ในอินเดียใช้เปลือกกระทุ่มต้มกินแก้ไข้ แก้ปวดมดลูก แก้โรคลำไส้ และอมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก ผลใช้เป็นยาฝาดสมานในโรคท้องร่วง (Kirtikar and Basu, 1975, Burkill, 1935) เนื้อไม้ละเอียด สีเหลืองหรือขาว ใช้ทำพื้นและฝาที่อยู่ในร่ม และทำเยื่อกระดาษได้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich. ex Walp.
ชื่อสกุล
Anthocephalus
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean Baptiste Antoine Pierre de Monnet de
- Richard, Achille
- Walpers, Wilhelm Gerhard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean Baptiste Antoine Pierre de Monnet de (1744-1829)
- Richard, Achille (1794-1852)
- Walpers, Wilhelm Gerhard (1816-1853)
ชื่ออื่น ๆ
กระทุ่มบก, ตะกู, ตะโกส้ม (กลาง); ตุ้มขี้หมู (ใต้); ตุ้มหลวง (เหนือ); ทุ่มพราย (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.พยอม ตันติวัฒน์