ตานคุ้มเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าอวบและสั้น ลำต้นสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน มี ๒-๔ ใบ รูปรีแคบ กว้าง ๘-๑๓ ซม. ยาว ๓๕-๕๖ ซม. ปลายเป็นติ่งหนาม โคนรูปลิ่ม ขอบบางครั้งเป็นขนครุย แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นใบขนานจากโคนสู่ปลาย มีมากกว่า ๕๐ เส้น ก้านใบยาว ๓๗-๖๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด รูปทรงกระบอก อวบ ยาว ๑๔-๓๑ ซม. มี ๓๐-๖๐ ดอก ก้านช่อดอกอวบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๔ ซม. ยาว ๑๔-๓๗ ซม. มีใบประดับหลายใบตลอดความยาว ใบประดับรูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปแถบ สีน้ำตาล บางคล้ายเยื่อ ก้านดอกอวบ ยาว ๓-๔ มม. โค้งลง ดอกสีเขียวหรือสีม่วงอมเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. กลีบรวมยาว ๓.๕-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดและเชื่อมติดกับรังไข่ ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอกมี ๓ แฉก แต่ละแฉกกว้าง ๓-๔.๑ มม. กลีบวงในมี ๓ แฉก แต่ละแฉกกว้าง ๒.๕-๒.๗ มม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นวงรอบที่โคนของกลีบรวม อับเรณูติดทางด้านใน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบหรือกึ่งใต้วงกลีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๗-๒.๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด หรือมากกว่า ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ยาว ๑-๒ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีเมล็ดได้หลายเมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำเงิน
ตานคุ้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบชื้น ริมลำธารในที่ร่มและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๑,๘๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล ภูฏาน และจีน.