ตับเต่าต้น

Diospyros ehretioides Wall. ex G. Don

ชื่ออื่น ๆ
กากะเลา (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ตับเต่าหลวง, มะพลับดง (ตะวันตกเฉียงใต้); ชิ้นกวาง, มะมัง, มาเมี้ยง, ริ
ไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ถึงรูปรีกว้าง ดอกแยกเพศต่างต้นออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓-๔ กลีบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างรี กลีบเลี้ยงติดทน ปลายพับกลับ เส้นกลีบเห็นไม่ชัดเมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว

ตับเต่าต้นเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว กิ่งไร้หนาม เปลือกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ดหนาทั่วไป กระพี้สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลคล้ำถึงสีดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ถึงรูปรีกว้าง กว้าง ๗-๒๓ ซม. ยาว ๑๐-๒๘ ซม. ปลายมนถึงมนกว้าง โคนมนกว้าง รูปตัด หรือหยักเว้ารูปหัวใจแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเมื่ออ่อนมีขนนุ่ม เส้นกลางใบราบหรือเป็นร่องทางด้านบนนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น คดไปมาอาจราบหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยไม่เป็นระเบียบ เป็นร่องทางด้านบน อาจนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่ออ่อนมีขนนุ่ม

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓-๔ กลีบ


กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๓ แฉก ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนยาว ๓-๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๓-๔ แฉก ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี ๒๐-๓๐ เกสร เกลี้ยง รังไข่ของเกสรเพศเมียที่เป็นหมันมีขนประปราย ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม.

ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันหรือแยกเป็นอิสระ มีขนนุ่มทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่ มีขนคล้ายเส้นไหม มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเดี่ยว มีขนนุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงติดทน ปลายพับกลับ เส้นกลีบเห็นไม่ชัด ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดแข็งรูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว

 ตับเต่าต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๔๕๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและกัมพูชา

 ประโยชน์ ผลให้น้ำฝาด ใช้ย้อมแห อวน และเสื้อผ้า หรือใช้เบื่อปลา เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับเต่าต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros ehretioides Wall. ex G. Don
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
ehretioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
กากะเลา (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ตับเต่าหลวง, มะพลับดง (ตะวันตกเฉียงใต้); ชิ้นกวาง, มะมัง, มาเมี้ยง, ริ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย