คาวตองเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๕๐ ซม. มีกลิ่นคาว ลำต้นใต้ดินเป็นข้อปล้องชัดเจน ตามข้อมีราก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง ๒.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๓-๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น มีขนสั้นตามเส้นใบ ก้านใบยาว ๑-๔ ซม. โคนก้านแผ่กว้างโอบข้อ หูใบรูปขอบขนานติดแนบที่ขอบข้างโคนก้านใบ ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ปลายหูใบเรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามยอดหรือตรงข้ามซอกใบใกล้ยอด รูปทรงกระบอก กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. โคนช่อมีใบประดับคล้ายกลีบดอก ๔(-๕) กลีบ สีขาว รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานกว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑-๒ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกเล็กและเรียงแน่นรอบแกนช่อ ไม่มีก้านดอกและกลีบดอก ดูทั้งช่อคล้ายเป็นดอกเดี่ยว ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๖ มม. อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน เรียวและโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคนโท กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เรียงชิดแน่นรอบแกนช่อเมล็ดเล็กมาก ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๘ มม.
คาวตองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติและปลูกในที่ชื้น และมีแสงรำไร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยใช้ใบเป็นผัก นอกจากนี้ ยังใช้ใบในยาสมุนไพรทำให้น้ำเหลืองแห้ง แก้โรคผิวหนัง ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ใช้ใบเป็นสมุนไพรพี้นบ้านขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ลมพิษ บรรเทาอาการอักเสบ.