ตันหยงพรุเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ดยาว เปลือกในเป็นเส้นสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน ส่วนที่ยังอ่อนและช่อดอกมีขน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๖-๒๓.๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๒๗ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมถึงเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่มถึงมนกลม ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีต่อมโปร่งแสง บางครั้งมีขนแนบใกล้กับเส้นกลางใบทางด้านล่างของแผ่นใบ เส้นแขนงใบละเอียดข้างละจำนวนมากเรียงขนานกัน เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ใบเมื่อยังสดเป็นมันวาว เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมสีม่วงจางหรือเป็นสีตะกั่ว ก้านใบยาว ๐.๘-๒ ซม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๒๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มก้านช่อดอกยาว ๑.๒-๓.๖ ซม. บางครั้งสั้นมาก แกนช่อดอกยาว ๗.๓-๑๔.๗ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๒๓ ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๑-๒.๒ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในมีขนแข็งหนาแน่นกลีบดอกสีขาวแกมสีเขียว มีประมาณ ๓๐ กลีบ รูปเส้นด้ายแกมรูปลิ่มแคบ ยาว ๓-๔ มม. เกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนเท่ากับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก แยกเป็นอิสระ เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐานรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านรังไข่สั้นมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง
ผลแบบผลแห้งแตก สีส้มแกมสีน้ำตาล รูปทรงรีแกมรูปทรงค่อนข้างกลม หรือรูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. เปลือกหนา แตกเป็น ๒-๓ ส่วน พบบ้างที่แตกเป็น ๔ ส่วน ก้านผลยาวประมาณ ๒ ซม. เกลี้ยง ผลเมื่อแห้งผิวขรุขระและมีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดรูปทรงรีแกมรูปทรงค่อนข้างกลมถึงรูปทรงกระบอกกว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒.๘-๔ ซม. มี ๑-๓ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวนวล
ตันหยงพรุมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าพรุและป่าดิบชื้น ตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประโยชน์ รากเป็นสมุนไพร.