ตานขโมย ๒

Ophiopogon caulescens (Blume) Backer

ไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าแข็งคล้ายเนื้อไม้ ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีจำนวนมาก รูปแถบถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ดอกเรียงข้างเดียว สีขาวหรือสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปทรงกลม ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงรี มีได้ถึง ๖ เมล็ด

ตานขโมยชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าแข็งคล้ายเนื้อไม้ ลำต้นค่อนข้างสั้น บางครั้งมีรากค้ำจำนวนมาก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีจำนวนมาก รูปแถบถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๓-๑.๒ ซม. ยาว ๑๕-๖๕ ซม. มักโค้งเล็กน้อยคล้ายคันศร ปลายกึ่งแหลมหรือมนแคบ โคนแผ่เป็นกาบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบเห็นชัด เส้นใบขนานจากโคนสู่ปลาย เห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ยาว ๑๐-๓๕ ซม. ก้านช่อดอกแบน ดอกเรียงข้างเดียว มี ๓-๑๒ ดอก ใบประดับยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๘ มม. เป็นข้อใกล้กึ่งกลางก้าน กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๖ แฉก สีขาวหรือสีม่วง แต่ละแฉกรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ติดที่โคนกลีบรวม ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน ยาว ๐.๕-๒ มม. อับเรณูยาว ๔-๕.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบหรือกึ่งใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอกหรือรูปกรวยกลับแกมรูปแถบ ยาว ๕-๗ มม. ปลายเดี่ยวหรือแยกเป็นแฉกเล็ก ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปทรงกลม ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงรี ยาว ๔-๘ มม. มีได้ถึง ๖ เมล็ด

 ตานขโมยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๕๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานขโมย ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ophiopogon caulescens (Blume) Backer
ชื่อสกุล
Ophiopogon
คำระบุชนิด
caulescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Baker, John Gilbert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Baker, John Gilbert (1834-1920)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววลัยพร วิศวชัยวัฒน์