ข่อยย่านเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ไม่มียาง ลำต้นกลม สีเทา กิ่งลู่ลง ยอดอ่อนมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปรีแคบ กว้าง ๒.๓-๕.๕ ซม. ยาว ๕-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือแหลม แผ่นใบมีขนประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่าและสากคาย เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขน หูใบ ๑ คู่ รูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขน
ดอกแยกเพศต่างต้น มีวงกลีบรวม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด สีเหลืองอ่อน ออกตามง่ามใบ ๑-๔ ช่อ ยาว ๑.๕-๕ ซม. ดอกย่อยแน่นและมีขน ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนหนาแน่น โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปไข่ปลายมน ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสั้น ๆ เมื่อเป็นดอกตูมปลายแฉกจรดกัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน อยู่ตรงข้ามกับแฉกกลีบ ก้านชูอับเรณูยาวเรียว เกสรเพศเมียที่เป็นหมัน รูปกรวยอยู่ตรงกลาง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่นขนาดเล็ก กลมหรือรูปไข่ สีเขียวอ่อน มีขน ออกตามง่ามใบ ๑-๔ ช่อ กว้างและยาวประมาณ ๘ มม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับจำนวนมากเบียดกันแน่น รูปไข่กลับ ขนาดประมาณ ๒ มม. อวบน้ำ มีขนหนาแน่น ดอกย่อย ๑-๕ ดอก กลีบรวมเชื่อมกันเป็นรูปกลมปลายเปิด หุ้มรังไข่ไว้มิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ปลายที่เปิดมีขนครุย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นปลายกลีบรวมเล็กน้อย มีขน ยอดเกสรเพศเมียสีขาว แยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๒-๓ มม. มีขน
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม. เปลือกผลบาง ผลสุกสีแดง มีวงกลีบรวมติดทน มี ๑ เมล็ด
ข่อยย่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าละเมาะ ป่าดิบ บนเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.