เข็มเลื้อย

Coelospermum truncatum (Wall.) Baill. ex K. Schum.

ชื่ออื่น ๆ
ชะนูด (ใต้)
ไม้เลื้อย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นหุ้มรอบข้อ ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือเกือบกลม สีเขียว สุกสีม่วงเข้ม เมล็ดแบนทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี

เข็มเลื้อยเป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนอาจเป็นสี่เหลี่ยม เกลี้ยง มีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๔-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น มีตุ่มใบที่ซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๘-๒ ซม. เป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบนมีต่อมโคนใบ หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นหุ้มรอบข้อ มีขนประปราย

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว ๕-๒๕ ซม. มักไม่มีก้านช่อ ช่อย่อยเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเป็นวงรอบ ๓-๔ ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางช่อย่อย ๑-๒ ซม. ก้านช่อย่อยล่างสุดยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๖ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก ยาว ๒-๔ มม. ก้านช่อย่อย ก้านดอก และใบประดับมีขนประปราย ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายตัดหรือเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก ไม่ชัดเจน ด้านนอกมีขนประปรายบริเวณโคนด้านในมีต่อมจำนวนมาก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๔-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน ยาว ๔-๘ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่บริเวณคอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๔ มม. อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกแคบ ยาว ๓.๕-๖ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๒ ซม. สีเขียว สุกสีม่วงเข้ม มี ๔ เมล็ด เมล็ดแบน ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี ขอบมีปีกแคบ ๆ

 เข็มเลื้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นในสภาพป่าเกือบทุกประเภท ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เดิมใช้ชื่อสลับกันระหว่าง Caelospermum กับ Coelospermum ปัจจุบันใช้ Coelospermum.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มเลื้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Coelospermum truncatum (Wall.) Baill. ex K. Schum.
ชื่อสกุล
Coelospermum
คำระบุชนิด
truncatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Baillon, Henri Ernest
- Schumann, Karl Moritz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Baillon, Henri Ernest (1827-1895)
- Schumann, Karl Moritz (1851-1904)
ชื่ออื่น ๆ
ชะนูด (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี