ตังหนใบใหญ่ชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. มีรากค้ำและรากรูปหัวเข่าจำนวนมาก รากค้ำสูงได้ถึง ๕ ม. ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง กิ่งอ่อนแบนหรือเป็นสี่เหลี่ยม เกลี้ยงหรือมีไข จนถึงมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๙.๕ ซม. ยาว ๑๐.๕-๑๘.๕ ซม. ปลายเว้าบุ๋มถึงมนกลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบถึงเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว ๓.๕-๑๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล แต่ละช่อมี ๙-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๔ ซม. ดอกสีขาวกลีบรวม ๘ กลีบ เรียงเป็น ๔ ชั้น ชั้นละ ๒ กลีบ ชั้นนอกรูปไข่ถึงรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๖.๕-๗ มม. ยาว ๖.๕-๗.๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาล กลีบรวมชั้นถัดไปรูปไข่กลับถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๙-๙.๕ มม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. ด้านนอกมีขนสีน้ำตาล กลีบรวม ๒ ชั้น ในสุดมีรูปและขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๔ ซม. ขอบด้านนอกมีขนสีน้ำตาลประปราย เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๔.๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔.๕-๖.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีถึงรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อนถึงมนกลม ผลสุกสีเขียวอมหลือง
ตังหนใบใหญ่ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียจนถึงบอร์เนียว
ประโยชน์ เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งและทนทานใช้ในการก่อสร้างได้ดี.