จันทนา ๑

Tarenna hoaensis Pit.

ชื่ออื่น ๆ
จันตะเนี้ย (เขมร-ตะวันออก); จันทน์ขาว, จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์); จันทน์หอม (ระยอง)
ไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามยอด ช่อตั้งขึ้น ช่อแขนงแตกแขนงแบบแยกสาม ดอกสีขาว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี สีเขียว สุกสีดำ มี ๑ เมล็ดรูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม สีน้ำตาลหรือสีดำ

จันทนาชนิดนี้เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ต้นสูงได้ถึง ๗ ม. กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เปลือกสีเขียวเกลี้ยง กิ่งแก่เปลือกสีน้ำตาล เกลี้ยง เรียบหรือเป็นร่องตื้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง ๕.๕-๑๑ ซม. ยาว ๑๔-๒๔ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๔ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง มีตุ่มใบอยู่ตามซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบก้านใบยาว ๑-๑.๗ ซม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาว ๔-๗ มม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามยอด ช่อแน่นตั้งขึ้น กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. ช่อแขนงมีแขนงหลัก ๓-๔ แขนง ออกตรงข้ามแตกแขนงแบบแยกสาม ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. แกนช่อและก้านดอกมีขนสั้นกระจายทั่วไป ใบประดับ ๓ ใบ ใบประดับที่อยู่ด้านข้างมี ๒ ใบ เรียงตรงข้าม รูปเส้นด้ายหรือรูปรี กว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๐.๕-๓ ซม. ใบประดับใบกลางรูปสามเหลี่ยม แต่ละช่อแขนงย่อยเป็นช่อกระจุก มี ๓ ดอก มีใบประดับรองรับช่อแขนงย่อย ดอกที่อยู่ด้านข้างทั้ง ๒ ดอก มีก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ใบประดับย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ที่โคนรังไข่หรือบนก้านดอก ส่วนดอกที่อยู่ตรงกลางมีก้านดอกยาวได้ถึง ๐.๕ มม. หรือไร้ก้านดอก ไม่มีใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาวได้ถึง ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ยาว ๐.๒-๐.๔ มม. ปลายมน มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๒.๕-๓ มม. ส่วนบนใกล้คอหลอดกลีบดอกด้านในมีขนคล้ายไหม ส่วนล่างเกลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายมนด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มที่โคน ด้านนอกมีขนประปราย ขอบมีขนครุย แฉกกลีบบิดเวียนในดอกตูม


เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบ ก้านชูอับเรณูเป็นหลอดแคบและสั้นยาวได้ถึง ๑ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐาน สีเทาอมเหลืองรูปแถบ ยาว ๔-๕ มม. บิดเมื่อดอกบานเต็มที่ จานฐานดอกเห็นชัดล้อมรอบโคนก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปถ้วย ยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนสั้นประปรายมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียยาวรวมกัน ๐.๙-๑.๑ ซม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ช่วงบนมีขนหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู รูปกระสวยยาว ๕.๕-๖.๕ มม. ปลายแยกเล็กน้อย

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. สีเขียว สุกสีดำ เกลี้ยงหรือมีขนกระจายทั่วไป มีแฉกกลีบเลี้ยงติดทนอยู่ที่ปลายผล มี ๑ เมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. สีน้ำตาลหรือสีดำ ด้านบนเป็นแอ่งมีขอบรูปวงแหวน เปลือกเรียบ

 จันทนาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบในที่ลุ่มต่ำ หรือบนภูเขาหินปูนที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทนา ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tarenna hoaensis Pit.
ชื่อสกุล
Tarenna
คำระบุชนิด
hoaensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pitard, Charles-Joseph Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1927)
ชื่ออื่น ๆ
จันตะเนี้ย (เขมร-ตะวันออก); จันทน์ขาว, จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์); จันทน์หอม (ระยอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย