ค่างเต้น ๒

Derris dalbergioides Baker

ชื่ออื่น ๆ
ดีงู, แปรงปืน, พันแต, มะตาฮะจิง, มะแตฮาจิง, มะนามจาย (ใต้)
ไม้ต้น กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสีนํ้าตาลอ่อน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนมีใบย่อย ๒๕-๓๕ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกรูป ดอกถั่วสีชมพูแกมม่วง ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก เมล็ดรูปไต สีนํ้าตาลมี ๑-๕ เมล็ด

ค่างเต้นชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๓๐ ม. กิ่งอ่อนใบอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบรวมแกนกลางใบยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีใบย่อย ๒๕-๓๕ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายมนหรือเว้า โคนมนและเบี้ยวยกเว้นใบย่อยที่ปลายสุดโคนสอบ แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าด้านบน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว๔-๑๔ ซม. ดอกรูปดอกถั่วออกเป็นกลุ่ม ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมตื้นยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ สีชมพูแกมม่วง กลีบกลางรูปขอบขนานขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่นกว้าง ๓-๔ มม. ยาว๗-๘ มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑.๔ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. กลีบคู่ล่างโค้งติดกันเป็นรูปเรือ กว้าง ประมาณ๒ มม. ยาวประมาณ๗ มม. เกสรเพศผู้๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่นทุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนานมีขนมี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝัก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ มีขน ขอบฝักด้านบนมีครีบแบนบางยาวตลอดฝัก เมล็ดรูปไต กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. สีน้ำตาล มี ๑-๕ เมล็ด

 ค่างเต้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าหรือบริเวณที่โล่งในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๓๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ค่างเต้น ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Derris dalbergioides Baker
ชื่อสกุล
Derris
คำระบุชนิด
dalbergioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Baker, John Gilbert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1920)
ชื่ออื่น ๆ
ดีงู, แปรงปืน, พันแต, มะตาฮะจิง, มะแตฮาจิง, มะนามจาย (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม