เข็มพวง

Ixora butterwickii Hole var. butterwickii

ชื่ออื่น ๆ
เข็มป่า (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีดำ

เข็มพวงเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๔ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๕-๑๓ ซม. ยาว ๒๐-๒๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบหรือมนขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมันเส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๘ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาว กลิ่นหอมก้านดอกยาวได้ถึง ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. ด้านนอกและขอบเกลี้ยงกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๘ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดบริเวณคอหลอดกลีบดอกเรียงสลับกับแฉกกลีบดอก อับเรณูรูปรี ยาว ๓-๕ มม. แตกตามยาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. สุกสีดำ เมล็ดรูปครึ่งวงกลมกว้างและยาว ๕-๖ มม. มี ๑-๒ เมล็ด

 เข็มพวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มพวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ixora butterwickii Hole var. butterwickii
ชื่อสกุล
Ixora
คำระบุชนิด
butterwickii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hole, Robert Selby
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. butterwickii
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1875-1938)
ชื่ออื่น ๆ
เข็มป่า (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ