ชะคราม ๒

Suaeda maritima (L.) Dumort.

ชื่ออื่น ๆ
ชักคราม (กลาง); ส่าคราม (สมุทรสาคร)
ไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นในที่ดินเค็ม โคนต้นแก่จัดมักมีเนื้อไม้ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ รูปแถบแกมรูปทรงกระบอกอวบน้ำ สีเขียว สีม่วงอมแดงถึงสีแดง มักมีแต้มประสีม่วงเข้มและมีรสเค็ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเขียวหรือสีแดง ผลแบบผลกระเปาะแห้งแล้วไม่แตก รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดสีน้ำตาล รูปทรงค่อนข้างกลม แบนข้าง เป็นมัน

 ชะครามชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นในที่ดินเค็ม สูง ๗-๔๕ ซม. โคนต้นแก่จัดมักมีเนื้อไม้ แตกกิ่งหนาแน่นเป็นพุ่มเตี้ย กิ่งที่ลู่ทอดไปตามพื้นอาจพบรากออกตามข้อ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ รูปแถบแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาว ๑-๔.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โค้งเล็กน้อย โคนมน ขอบเรียบ อวบน้ำสีเขียว สีม่วงอมแดงถึงสีแดง มักมีแต้มประสีม่วงเข้มด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมักมีนวล เส้นใบเห็นไม่ชัดเจนก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบมีรสเค็ม

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๒-๑๕ ซม. ออกตามยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบ


ช่อกระจะ ออกตามส่วนล่าง ๆ ของช่อ มักออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๕ ดอก ดอกที่อยู่เหนือขึ้นไปมักออกเดี่ยว เรียงตามแกนช่อ ใบประดับรูปคล้ายใบและลดขนาดตามลำดับไปสู่ปลายช่อ ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน เล็กมาก ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๒-๓ ใบ ติดทน ส่วนมากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ พบบ้างที่แยกเพศ ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมสีเขียวหรือสีแดง ยาว ๑-๒ มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก ๒ แฉก พบน้อยที่เป็น ๓ แฉก ยื่นยาวเหนือกลีบรวมหากเป็นดอกแยกเพศ ในดอกเพศเมียจะพบเกสรเพศผู้เป็นหมัน

 ผลแบบผลกระเปาะแห้งแล้วไม่แตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ มม. มีกลีบรวมติดทน เมล็ดสีน้ำตาล รูปทรงค่อนข้างกลม แบนข้าง เป็นมัน

 ชะครามชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่นตามทุ่งโล่งแจ้ง แดดจัด และดินเค็มหรือน้ำทะเลท่วมถึงด้านหลังป่าชายเลน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ยอดอ่อน ใบ และก้าน ปรุงสุกเป็นอาหารหรือต้มกินกับน้ำพริก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะคราม ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Suaeda maritima (L.) Dumort.
ชื่อสกุล
Suaeda
คำระบุชนิด
maritima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Dumortier, Barthélemy Charles Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Dumortier, Barthélemy Charles Joseph (1797-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ชักคราม (กลาง); ส่าคราม (สมุทรสาคร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์