ข่อยจีนเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๔ ม. เปลือกสีน้ำตาลและแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว กิ่งอ่อนมีขน
ใบเดี่ยว เรียงเวียนตามกิ่งอ่อน ๆ และเป็นกระจุกอยู่ตามกิ่งทั่วไป รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑-๖ ซม. โคนสอบ ปลายมนหรือตัด มีหยัก ๓-๕ หยัก ขอบค่อนข้างเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันและมีขนสั้นกระจายทั่วไป ด้านล่างสีจางกว่าและค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามง่ามใบ มี ๒-๖ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน ดอกสีขาว ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วยยาวไม่เกิน ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับแคบ ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล กลีบดอกตอนโคนติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เกิน ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. สีขาว ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เล็ก รูปกลม สีนวล มี ๑ ช่อง ออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว แยกเป็น ๒ แฉกลงมาเกือบถึงโคนก้าน ยาว ๓-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กมาก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. ผลแก่สีแดง เนื้อชั้นนอกสด ชั้นในแข็ง มีเมล็ดขนาดเล็ก ๔ เมล็ด
ข่อยจีนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคมาเลเซีย นำมาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอินโดจีน
อินโดนีเซียใช้ใบแก้ท้องเสีย และฟิลิปปินส์ใช้ใบแก้ปวดท้อง (Perry and Metzger 1980.).