ตาถีบขี้นกชนิดนี้เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๓ ม. เปลือกสีเทา
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๑.๗-๕ ซม. ยาว ๖.๕-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมถึงรูปใบหอก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายแหลม
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกกึ่งช่อซี่ร่ม มีดอกประมาณ ๑๕ ดอก ออกตามซอกใบหรือพบบ้างที่ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว มีใบประดับ ๑ คู่ เชื่อมติดกัน ดอกเล็ก สีขาว ก้านดอกยาวประมาณ ๙ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. มีขน ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแฉกมีขน เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น ติดที่คอหลอดดอก อับเรณูรูปทรงรี ขนาดเล็ก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ขนาดเล็ก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ผิวเกลี้ยง เป็นมัน สีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองอมส้ม เมล็ดรูปทรงรีหรือคล้ายรูปไต มีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑-๒ เมล็ด
ตาถีบขี้นกชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามที่ชื้นริมแหล่งน้ำ ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน.