ตังหนใบขนเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๓.๕-๖ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายแหลมถึงเป็นติ่งหนาม โคนมนหรือรูปคุ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่นโดยเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบจำนวนมากเรียงถี่ขนานกัน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล แต่ละช่อมี ๕-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๑.๘ ซม. ดอกสีขาว กลีบรวม ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น กลีบรวมคู่นอกรูปไข่ถึงรูปรีกว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบรวมคู่ในรูปรีถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๕.๕ มม. ยาว ๖.๕-๙ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๔.๕-๕ มม. อับเรณูติดที่ฐาน มี ๒ พู รูปขอบขนาน มีขนหนาแน่นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๒-๓ มม. มีขนสั้นนุ่ม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว มีขนสั้นนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๒.๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. สุกสีเขียวอมเหลือง เมล็ดรูปคล้ายผล
ตังหนใบขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและบอร์เนียว
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.