ชะครามชนิดนี่เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑-๔ ม. กิ่งตรง มีขนซึ่งปลายแยกเป็น ๒ แขนง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๘-๑๖ ซม. ใบย่อย ๑๐-๑๙ ใบ เรียงตรงข้ามรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายแหลมถึงมนกลม โคนรูปลิ่ม เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๒ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๓-๔ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว ๓-๘ ซม. ออกตามซอกใบ ใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ มม. ดอกยาว ๕-๗ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยมกว้าง ๐.๕-๐.๘ มม. ยาว ๐.๕-๑ มม. ดอกรูปดอกถั่วสีชมพู กลีบกลางสีเขียว รูปรี กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านล่างมีขน ก้านกลีบสั้น กลีบคู่ข้างสีชมพู รูปช้อน กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๔-๖ มม. เกลี้ยงขอบเป็นขนครุยสั้น โคนเป็นติ่งหู ก้านกลีบสั้น กลีบคู่ล่างสีเหลืองอมเขียว ปลายสีน้ำตาล กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. เกลี้ยง มีขนเฉพาะที่ปลาย โคนเป็นติ่งหูขอบเป็นขนครุยสั้น ก้านกลีบสั้น มีเดือยเชื่อมติดกับกลีบคู่ข้าง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติดเป็น ๒ กลุ่มหลอดเกสรเพศผู้ยาว ๕-๖ มม. อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลประมาณ ๑๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอกกว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๕-๗ ซม. เกลี้ยงมีจะงอยยาว ๐.๕-๑ ซม. ผนังผลชั้นในเป็นตุ่ม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑๕-๑๘ เมล็ด
ชะครามชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. บางครั้งเป็นพืชปลูก ออกดอกเดือนเมษายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.