ข่อยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๔ ม. เปลือกสีเทา เนื้อไม้สีขาว มียางขาว กิ่งสีน้ำตาล สากคาย มีขนหยาบสั้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนลู่ลง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ รูปใบหอกกลับ หรือรูปรี กว้าง ๑.๕-๕.๖ ซม. ยาว ๒-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน ปลายสุดเป็นติ่งสั้น ๆ หรือเว้าตื้น โคนสอบเรียวหรือเป็นรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมนห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า และสากคายกว่าด้านบน ใบแก่สากคายกว่าใบอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ มม. หูใบ ๑ คู่ อยู่ตรงง่ามใบ รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม หรือเป็น ๒ แฉกมีขน
ดอกแยกเพศมีทั้งร่วมต้นและต่างต้น มีแต่กลีบเลี้ยงไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกเล็ก กว้าง ๐.๖-๑ ซม. มีดอกย่อย ๕–๑๕ ดอก สีเขียวอ่อน ก้านช่อยาวประมาณ ๗ มม. มีขนละเอียด โคนช่อมีใบประดับเล็ก ๆ ๑-๒ ใบ ก้านดอกย่อยสั้นมาก กลีบรวมยาวประมาณ ๒ มม. รูปไข่ปลายแหลม เชื่อมกันตอนโคนเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนละเอียด เกสรเพศผู้ ๔ อัน สีขาว ยาวประมาณ ๔ มม. อยู่ตรงข้ามกับแฉกกลีบ มีเกสรเพศเมียซึ่งเป็นหมันและเป็นขน ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่ม ๒-๔ ดอก สีเขียว ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. มีใบประดับ ๒ อัน รูปไข่ปลายแหลม ยาว ๑-๒ มม. แนบชิดกับวงกลีบรวม กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขน และขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีหรือรูปไข่ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก แฉกยาว ๓-๔ มม. และเมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๐.๖-๑.๒ ซม.
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม ปลายบุ๋ม ยาว ๖-๘ มม. โคนผลมีวงกลีบรวมติดทนและโค้งลงเมื่อผลแก่ ปลายผลมียอดเกสรเพศเมีย ผลสุกสีเหลืองถึงสีส้ม กินได้ รสหวาน มีเมล็ด ๑ เมล็ด รูปกลม สีขาวอมเทา กว้าง ๔-๕ มม.
ข่อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในที่โล่งแจ้งตามทุ่งนา และตามป่ารุ่น ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบทางตอนใต้ของจีน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ตัดและเป็นรั้ว มีประโยชน์ใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน เปลือกต้น แก้ท้องร่วง บิด รำมะนาด ปวดฟัน โรคผิวหนัง รักษาแผล ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ เนื้อไม้รักษาริดสีดวงจมูก ใบปิ้งไฟชงน้ำดื่มเป็นยาระบาย ใช้แทนกระดาษทราย (Chada YR, 1976) กิ่งใช้ถูฟัน เมล็ดบำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลม ผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ เป็นยาอายุวัฒนะ หุงเป็นน้ำมันทางรักษาริดสีดวงทวาร (สยามไภสัชพฤกษ์).