ช่อสุวรรณเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๔ ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขน มักออกเป็นคู่ตรงข้าม เมื่อแก่ค่อนข้างมน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๔.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มมักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างบางค่อนข้างเกลี้ยง มีขนตามเส้นใบหรือมีขนทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ปลายโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๔-๘ มม. หูใบระหว่างก้านใบคล้ายกาบเชื่อมกับโคนก้านใบยาว ๒-๔.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก มีขน ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาวประมาณ ๒ ซม. ใบประดับเรียวคล้ายเส้นด้ายหรือรูปช้อนเรียว ยาว ๖-๙ มม. ดอกสีเหลือง ดอกส่วนใหญ่ในแต่ละช่อมีกลีบเลี้ยงเหมือนกัน มี ๑-๒ ดอกที่มีกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ ๑ กลีบ เห็นเด่นชัดก้านดอกสั้น โดยทั่วไปกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. มีขนหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๖ แฉก แฉกเรียวเล็กคล้ายเส้นด้าย กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๒-๖ มม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑ ซม. ในดอกที่มีแฉกกลีบเลี้ยงลักษณะต่างไป ๑ แฉกนั้น แฉกขยายใหญ่ลักษณะคล้ายแผ่นใบหรือใบประดับ สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง รูปไข่กลับรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ค่อนข้างกลมกว้าง ๑-๔.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๕.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือเว้าคล้ายรูปหัวใจ มีก้านเรียว ยาว ๑-๓.๕ ซม. มีเส้นกลีบเด่นชัด มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓.๕ ซม. มีขน หลอดกลีบดอกส่วนบนผายกว้าง ปลายแยกเป็น ๕ แฉกรูปไข่ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๘ มม. ปลายแหลมในดอกตูมกลีบดอกพับจีบเรียงชิด เมื่อบานบริเวณกลางดอกเห็นรอยพับแฉกรูปดาวได้เด่นชัด ปากหลอดกลีบดอกมักมีขนยาวเป็นวงรอบ สีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปแถบยาวประมาณ ๓.๕ มม. ปลายมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว มีทั้งแบบสั้นและแบบยาว โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก สีเหลืองอมสีเขียวอ่อน
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู คล้ายรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีจำนวนมากและมีสันเหลี่ยม
ช่อสุวรรณเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับได้ทั่วทุกภาค ออกดอกเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบปลูกทั่วไปในเขตร้อนชื้น.