จันทน์ม่วง

Myristica elliptica Wall. ex Hook. f. et Thomson

ชื่ออื่น ๆ
จอแกะ, ซอแกะ (มลายู-นราธิวาส); จันทน์ป่า (นราธิวาส); สังขยา (นราธิวาส)
ไม้ต้น มียางสีแดง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ดอกสีส้มอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน เมล็ดทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่สีแดง มี ๑ เมล็ด

จันทน์ม่วงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. อาจมีพูพอนสูงได้ถึง ๑ ม. ถ้าขึ้นในป่าพรุหรือที่ชุ่มน้ำมีรากค้ำเปลือกนอกสีเทาถึงสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำแกมเทาเปลือกในสีน้ำตาลแกมแดงถึงสีชมพูหรือสีนวลแกมสีชมพูอ่อน มียางสีแดง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๙-๒๑ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงกลมแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เมื่อแห้งด้านบนสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียว ด้านล่างสีเทาหรือสีเขียว เส้นกลางใบเรียบหรือนูนเล็กน้อยทางด้านบน ด้านล่างเป็นสันนูนชัดเจนเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ มีขนสั้นประปรายถึงค่อนข้างเกลี้ยง ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านช่อดอกเกือบเกลี้ยง ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. มีดอกน้อย ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑๒ ซม. ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้แต่ขนาดเล็กกว่า ดอกตูมที่พัฒนาเต็มที่ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียเป็นเหลี่ยมที่ส่วนบน มีขนสั้นนุ่มประปราย ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียรูปคนโทหรือรูประฆัง พบบ้างที่เป็นรูปทรงกระบอก สีส้มอ่อน วงกลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๒ หรือ ๔ แฉก ปลายแฉกแหลม มักโค้งกลับ ดอกเพศเมียกว้างกว่าดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้มีใบประดับย่อยรูปไข่กว้างถึงรูปโล่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ดอกตูมรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายแหลม บางครั้งคอดบริเวณใต้แฉก เมื่อบานแฉกลึกประมาณ ๑ ใน ๓ ของความยาววงกลีบรวม ก้านชูเกสรเพศผู้ยาว ๒-๒.๕ มม. เกลี้ยงหรือมีขนละเอียดประปรายบริเวณโคน เกสรเพศผู้ ๕-๖ เกสร ยาว ๕-๗ มม. ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูชิดกันดอกเพศเมียมีใบประดับย่อยขนาดเล็กมาก รูปค่อนข้างกลม ล้อมหรือหุ้มฐานดอกไว้ ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกตูมรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายแหลมเป็นเหลี่ยม เมื่อบานแฉกลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ก้านรังไข่สั้นมากรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวยยาว กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก แยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๔.๕-๗.๕ ซม. เกือบเกลี้ยง โคนมักสอบเรียวเป็นก้านเทียม ยาว ๐.๔-๑.๒ ซม. เปลือกหนาก้านผลเรียว ยาว ๐.๕-๑ ซม. ผลสุกสีเหลือง เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแห้ง เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีกว้าง ๑.๕-๒.๘ ซม. ยาว ๓.๗-๕.๕ ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วแยกถึงโคนหรือเกือบถึงโคน สีเหลืองอ่อน เมื่อแก่สีแดง มี ๑ เมล็ด

 จันทน์ม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าพรุ ป่าดิบชื้น หรือป่าละเมาะที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ เปลือกใช้ในการรักษาอาการเจ็บปวดที่บริเวณผิวหนัง เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง หรือใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัด ทำหีบใส่ของ น้ำมันจากเมล็ดใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ผลใช้เป็นเครื่องยา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์ม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myristica elliptica Wall. ex Hook. f. et Thomson
ชื่อสกุล
Myristica
คำระบุชนิด
elliptica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
จอแกะ, ซอแกะ (มลายู-นราธิวาส); จันทน์ป่า (นราธิวาส); สังขยา (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา