ขอบชะนางชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก ยาวได้ถึง ๙๐ ซม. ลำต้นทอดราบไปตามพื้นดิน ปลายตั้งขึ้น สูงได้ถึง ๖๐ ซม. ลำต้นอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ต้นแก่กลม
ใบเดี่ยว ตอนล่างของลำต้นเรียงตรงข้าม ตอนบนเรียงเวียนถี่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ขนาดของใบจะค่อย ๆ เล็กลงไปตามลำต้นจากโคนต้นถึงยอด ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือเว้า ขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนคาย เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น เส้นโคนใบ ๓ เส้น เห็นชัด โค้งยาวเกือบถึงปลายใบ ใบมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีเขียว ก้านใบสั้น หูใบเล็ก รูปสามเหลี่ยม
ดอกแยกเพศร่วมต้นและร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๓-๔ ดอก ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเพศผู้สีเขียวอ่อน มีประสีชมพู ก้านดอกสั้น วงกลีบรวม ๕ กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๕ อัน ดอกเพศเมียไม่มีก้านดอก โคนกลีบรวมติดกัน สีเขียวเรื่อ ปลายแยกหยักซี่ฟันเล็ก ๕ หยัก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยื่นพ้นกลีบรวม ร่วงง่าย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. เมื่อแก่สีดำเป็นมัน มีวงกลีบรวมที่ติดทนหุ้มอยู่และเป็นสันตามยาว ๓ สัน
ขอบชะนางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในที่ชื้นชายน้ำ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ทั้งต้นใช้ขับพยาธิและฆ่าหนอน เส้นใยใช้ทำเชือก.