กระทิงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. ทุกส่วนมียางสีเหลืองอมเขียว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. แผ่นใบเกลี้ยง เป็นมัน ปลายมนหรือมีรอยเว้าบุ๋ม เส้นใบเรียงขนานกัน
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยงสีเดียวกับกลีบดอก มีอย่างละ ๔ กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. เมื่อสุกสีนวล
กระทิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามชายฝั่งทะเล ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า และภูมิภาคอินโดจีน
ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ให้ร่มตามถนน ไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน ทำกระดูกงูเรือ ไม้หมอนรถไฟ ใบมี saponin และสารซึ่งเมื่อสลายตัวแล้วให้ hydrocyanic acid เป็นพิษต่อปลาและมนุษย์ (Bhatnagar ed., 1981) เมล็ดเมื่อนำมาบีบหรือสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ให้น้ำมันสีเหลืองอมเขียวร้อยละ ๕๐-๗๓ มีกลิ่นไม่ชวนดม มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน