ตาฉี่เคย

Craibiodendron stellatum (Pierre ex Laness.) W. W. Sm.

ชื่ออื่น ๆ
ดาวราย (เชียงใหม่); ติสี่อากอ, บอจออาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เหมือดภู (เลย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกแตกเป็นร่องเล็กตามยาว กิ่งเกลี้ยงหรือมีขน ที่ข้อมักมี ๑-๒ ตา ยอดอ่อนสีส้มอมแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ๒-๓ ชั้น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่ป้อม เมล็ดค่อนข้างแบน สีน้ำตาล ทรงรูปไข่ มีปีกข้างเดียว

ตาฉี่เคยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม. เปลือกแตกเป็นร่องเล็กตามยาว กิ่งเกลี้ยงหรือมีขน ที่ข้อมักมี ๑-๒ ตา ยอดอ่อนสีส้มอมแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๘ ซม. ยาว ๔-๑๗ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบใบเรียบหรือม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านบนสีเขียว


ด้านล่างสีจางกว่าและมักมีต่อมเป็นจุดเล็กสีดำประปราย เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ๒-๓ ชั้น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๕-๒๒ ซม. แกนกลางช่อมีขน ช่อแขนงมี ๘-๒๕ ดอก ใบประดับรูปไข่แกมรูปรี รูปสามเหลี่ยม หรือรูปแถบ ยาว ๐.๘-๖.๕ มม. ร่วงง่าย ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๔-๑ มม. ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๑.๕-๖ มม. มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาว ๐.๘-๒.๕ มม. ปลายแหลมหรือมนและมีติ่งหนาม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง กว้าง ๒.๕-๕ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกกลีบยาวใกล้เคียงกับหลอดกลีบดอก บริเวณกลางกลีบหนากว่าขอบกลีบ ด้านนอกมีขนประปรายถึงมีขนหนาแน่น ตามขอบกลีบมีปุ่มเล็ก ๆ กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เรียงเป็น ๒ วง ติดที่โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑.๗ มม. ส่วนล่างแบน ส่วนบนเป็นข้องอคล้ายเข่า ไม่มีรยางค์ อับเรณูทรงรูปไข่ ยาว ๐.๗-๐.๙ มม. แตกที่ปลายเป็นช่องเปิดรูปรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนหนาแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก โคนป่องเล็กน้อย เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียปลายตัดและขอบหยักตื้น ๕ หยักเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่ป้อม กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ผนังหนาและแข็ง มักเป็นพูตื้น ๕ พู มีขนประปราย


เมล็ดค่อนข้างแบน สีน้ำตาล ทรงรูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีปีกข้างเดียว

 ตาฉี่เคยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบตามป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมสน และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๙๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน

 ชื่อสกุล Craibiodendron ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์วิลเลียม แกรนต์ เครบ (William Grant Craib, พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๖) แห่งมหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน สกอตแลนด์


ซึ่งศึกษาพรรณไม้ไทยที่เก็บโดยหมอคาร์ (A. F. G. Kerr) และคณะ ที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ลอนดอน และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับพรรณไม้ที่พบใหม่ของไทยไว้เป็นจำนวนมาก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาฉี่เคย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Craibiodendron stellatum (Pierre ex Laness.) W. W. Sm.
ชื่อสกุล
Craibiodendron
คำระบุชนิด
stellatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
- Lanessan, Jean Marie Antoine de
- Smith, William Wright
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
- Lanessan, Jean Marie Antoine de (1843-1919)
- Smith, William Wright (1875-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ดาวราย (เชียงใหม่); ติสี่อากอ, บอจออาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เหมือดภู (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์