กระท่อมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๕-๑๑ ซม. ยาว ๑๒-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนป้าน แผ่นใบบางด้านล่างเห็นเส้นใบชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๒.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มี ๑-๓ ช่อ ช่อกลางสั้นมาก แต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี ๕ แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว
ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก มีสันตามยาว ๑๐ สัน เมล็ดมีปีก
กระท่อมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามริมน้ำ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย
ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์แตกต่างกันที่ลักษณะของใบ กล่าวคือ พันธุ์ก้านแดงมีก้านและเส้นใบสีแดงพันธุ์แตงกวามีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ พันธุ์ยักษ์ใหญ่มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยักพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากคือ พันธุ์ก้านแดง
ใบกระท่อมมีแอลคาลอยด์หลายชนิด (Beckett et al, 1965) ในประเทศไทยการปลูกกระท่อมต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ซึ่งได้มีการออกพระราชบัญญัติกระท่อม ห้ามมิให้มีการปลูกและมีไว้ในครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื่องจากเห็นว่ากระท่อมเป็นพืชเสพติด แต่สําหรับประเทศอื่น ๆ มิได้ถือว่ากระท่อมเป็นพืชเสพติด (Suwanlert, 1975)
ยาพื้นบ้านของไทยใช้ใบกระท่อมบำบัดอาการท้องร่วงและเคี้ยวกินแทนฝิ่นก่อนที่จะมีการออกพระราชบัญญัติห้ามปลูกและการมีไว้ในครอบครอง เพราะเชื่อว่าใบกระท่อมช่วยเพิ่มพลังในการทำงาน ทำให้ทนต่อการทำงานหนักกลางแดดได้ แต่ไม่ทนฝน เมื่อหยุดใช้ทำให้ท้องร่วง อ่อนเพลีย หงุดหงิด น้ำตาไหล และคัดจมูก เมื่อกลับมาใช้ใหม่จะรู้สึกสบายและอาการต่าง ๆ ดังกล่าวจะหายไป หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เบื่ออาหารน้ำหนักลด ผิวหนังมีสีคล้ำ โดยเฉพาะที่ใบหน้าและริมฝีปาก ท้องผูก และปากแห้ง