ตังหนขาว

Calophyllum canum Hook. f. ex T. Anderson

ไม้ต้น ทุกส่วนมียางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่ขนานกัน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีกว้างถึงรูปทรงค่อนข้างกลม เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลดำ

ตังหนขาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวขุ่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๓.๕-๖ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือบางครั้งสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่ขนานกัน ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว ๓-๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลเทา แต่ละช่อมี ๑๐-๑๓ ดอก ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. ดอกสีขาวกลีบรวม ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น กลีบรวมคู่นอกรูปรีถึงรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลเทา กลีบรวมคู่ในรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๓.๕-๔ มม. อับเรณูติดที่ฐาน มี ๒ พู


รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีกว้างถึงรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายมนกลม ผนังผลหนาเกลี้ยง เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลดำ ผิวย่น เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตังหนขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน ยังไม่พบผลในประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว

 ประโยชน์ ต้นใช้ทำเสากระโดงเรือ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตังหนขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum canum Hook. f. ex T. Anderson
ชื่อสกุล
Calophyllum
คำระบุชนิด
canum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Anderson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Anderson, Thomas (1832-1870)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์