ช่อร่มน้อยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ส่วนต่าง ๆ ไม่มีนวลแป้ง ลำต้นเป็นเหง้าป้อมสั้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียนซ้อนเป็นกระจุกแบบกุหลาบรูปไข่แกมรูปรีหรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายมนกลม โคนหยักเว้ารูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่นและหยักมนถี่ไม่สม่ำเสมอ ด้านบนมีขนสั้นนุ่มด้านล่างมีขนยาวตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ใบเมื่อแห้งจะบางเป็นเยื่อ ก้านใบยาว ๒.๕-๕ ซม. มีขนยาวสีน้ำตาลปนเหลือง
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ยอด ก้านช่อดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนยาวสีน้ำตาลปนเหลืองประปราย มี ๕-๖ ดอก ใบประดับรูปแถบ ยาว ๒-๓ มม. มีขนยาวประปราย ก้านดอกยาว ๕-๗ มม. มีขน มีการติดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียต่างกัน มีทั้งที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาวและอยู่สูงกว่าเกสรเพศผู้ และที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นและอยู่ต่ำกว่าเกสรเพศผู้ กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม มีขนบนสันเส้นกลางกลีบเลี้ยง กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๑.๕ เท่าของความยาวกลีบดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับยาวประมาณ ๒.๗ มม. ปลายแฉกเว้าตื้น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปผลแพร์ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒.๗ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ช่อร่มน้อยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบตามป่าดิบเขาที่มีความชื้นสูงและมีอินทรียวัตถุสะสมอยู่ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๙๐๐-๒,๕๖๕ ม. ออกดอกประมาณเดือนธันวาคม.