จันทน์ป่า ๒

Myristica maingayi Hook. f.

ไม้ต้น เปลือกนอกแตกเป็นสะเก็ดหนา มียางสีแดง กิ่งมีขน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน แผ่นใบด้านล่างมีปุ่มขนาดเล็กหนาแน่น ตาใบมีขน ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ออกตามซอกใบช่อแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่มหรือช่อกระจุก ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปทรงรีกว้างแกมรูปไข่ เมล็ดรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จักเป็นริ้วไม่สม่ำเสมอถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มี ๑ เมล็ด

จันทน์ป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๔๐ ม. กิ่งเรียว มีขน เปลือกนอกแตกเป็นสะเก็ดหนา เปลือกในสีน้ำตาลแดง มียางสีแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๙ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนกว้างถึงสอบเรียวสั้น ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือบางครั้งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง เมื่อแห้งสีเขียวมะกอก ด้านล่างเกือบเกลี้ยงและมีปุ่มขนาดเล็กหนาแน่น เส้นกลางใบด้านบนเป็นสันนูนเล็กน้อย ด้านล่างเป็นสันนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๒๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. เกลี้ยง ตาใบมีขน

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น มีขนสั้นนุ่มสีสนิม ออกตามซอกใบ ช่อแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่มหรือช่อกระจุก ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาวได้ถึง ๑๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. แขนงช่อดอกยาวได้ถึง ๔ มม. แกนช่อดอกสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๖ มม. แต่ละช่อมี ๕-๒๐ ดอก ใบประดับยาวประมาณ ๔ มม. ร่วงง่าย ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่าช่อดอกเพศผู้ มี ๑-๔ ดอก ติดรวมกันเป็นกลุ่ม ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียมีกลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูประฆัง พบน้อยที่เป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบบ้างที่มี ๒ หรือ ๔ แฉก ปลายแฉกแหลมมักโค้งกลับ ดอกเพศเมียกว้างกว่าดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๕-๙ มม. ใบประดับย่อยรูปกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ยาว ๔-๕ มม. กึ่งติดทน ดอกตูมรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๔.๕-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. แฉกลึก ๑ ใน ๕ ถึง ๑ ใน ๔ ของความยาวกลีบรวม เกสรเพศผู้ ๑๒-๑๖ เกสร ยาว ๕-๕.๕ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นก้านเส้าเกสร กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๑.๒-๒ มม. มีขนสั้นปกคลุมช่วงล่างประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาว อับเรณูชิดกัน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒.๘-๓.๕ มม. ดอกเพศเมียมีดอกตูมรูปไข่ถึงรูปรีกว้างประมาณ ๔.๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. แฉกลึกประมาณ ๑ ใน ๔ ของความยาวกลีบรวม ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ใบประดับย่อยยาวประมาณ ๕ มม. ร่วงง่าย ก้านรังไข่สั้นมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. มีขนสั้น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก แยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปทรงรีกว้างแกมรูปไข่ กว้าง ๕-๖.๕ ซม. ยาว ๗-๑๐.๕ ซม. เมื่ออ่อนมีขน แก่เกือบเกลี้ยง สุกสีเหลือง เปลือกหนา ก้านผลสั้นและหนา กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๔-๑.๑ ซม. เกลี้ยง แต่ละช่อมีผล ๑ หรือ ๒ ผล เมล็ดรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๓-๑.๗ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จักเป็นริ้วไม่สม่ำเสมอถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มี ๑ เมล็ด

 จันทน์ป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าพรุที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม

 ประโยชน์ เนื้อไม้เหมาะสำหรับงานโครงสร้างชั่วคราว ทำไม้อัด หีบใส่ของ เครื่องแกะสลัก และทำไม้ฟืน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์ป่า ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myristica maingayi Hook. f.
ชื่อสกุล
Myristica
คำระบุชนิด
maingayi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา