ขว้าวเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๒-๒๐ ม. ลำต้นตรง โคนเป็นพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง เปลือกค่อนข้างเรียบ หนา สีเทาอมเขียวอ่อนหรือน้ำตาลอมเทา ผิวอาจลอกเป็นสะเก็ดแผ่นบาง ๆ เปลือกในสีชมพูอ่อนถึงน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนมีรอยแผลใบปรากฏชัด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบป้อม รูปหัวใจ กว้าง ๘-๒๒ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. โคนโค้งกว้างและเว้าหยักลึก ปลายมนกว้างและแหลมเป็นติ่งตรงกลาง ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น แผ่นใบด้านบนมีขนสาก สีเข้มกว่าด้านล่างซึ่งมีขนนุ่มสีขาว ก้านใบเรียว ยาว ๕-๑๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่กว้าง ปลายมน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. ประกบติดกันเป็นคู่ที่ยอดและร่วงง่าย เมื่อใบเจริญขึ้นเหลือรอยแผลระหว่างก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๑ ซม. ออก ๑-๕ ช่อ ตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกเรียว ยาว ๔-๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีเหลือง มีจำนวนมาก กลิ่นหอมอ่อน ใบประดับรูปแถบ กลีบเลี้ยงเล็ก โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๕-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ใกล้ปากหลอดกลีบดอกด้านใน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี ผิวแข็ง รวมกันอยู่บนก้านช่อเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๑.๘ ซม. ระหว่างผลมีกาบเล็กแข็งแซม เมล็ดรูปรี ยาว ๔-๕ มม. มีปีกบาง ๑ ปีก
ขว้าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่ารุ่น ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซียตอนเหนือ
เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ใช้ทำกระดานพื้น ฝา กรอบประตูหน้าต่าง ไม้บุผนังและเครื่องเรือน ลังใส่ของ ถังไม้ เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม ทำของเล่นและไม้อัด ใบและรากใช้ปรุงยา.