กระท้อนเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลง ลำต้นเปลา โคนมักเป็นพอน เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู ค่อนข้างเรียบและแตกล่อนเป็นสะเก็ดใหญ่ ๆ เป็นปุ่มปม
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ๖-๑๖ ซม. ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี กว้างหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๑๑ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนมน ใบย่อยคู่ข้างโคนเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นห่าง ๆ มีก้านยาว ๒-๘ มม. ส่วนใบย่อยใบกลางมี ๆ ก้านยาว ๔-๖ ซม. ใบอ่อนมีขนสีเหลืองอ่อนทั้ง ๒ ด้าน ขนจะร่วงไปบ้างเมื่อใบแก่ ใบแก่สีเขียวเข้ม เมื่อจะทิ้งใบเปลี่ยนเป็นสีแสด
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๔-๑๖ ซม. ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง มีขนสีเหลืองทั่วไป ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง มีจำนวนมาก กลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑๐ อัน ติดกันเป็นหลอด อับเรณูติดอยู่ภายในหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมแป้น ฉ่ำน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๑๐ ซม. เปลือกมีขนนุ่ม เนื้อหนานุ่ม มียางสีขาวเล็กน้อย ผลสุกผิวสีเหลืองนวล กลิ่นหอม มี ๓-๕ เมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นปุยหนาสีขาว รสเปรี้ยวหรือหวาน
กระท้อนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบมากทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ราบต่ำ และพบขึ้นห่าง ๆ ตามหุบเขาจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ชาวสวนนิยมปลูกกระท้อนในสวนผลไม้ทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ สีแดงเรื่อ ๆ ปนเทา ใช้ในร่มทนทานพอประมาณ แพทย์แผนไทยใช้รากเป็นยาแก้โรคบิด ถ้าสุมเป็นถ่านกินเป็นยาดับพิษร้อนใน ถอนพิษไข้รากสาด ปรุงเป็นยามหานิล (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖) ชาวมาเลเซียใช้เปลือกกระท้อนเป็นยากินหลังการคลอดบุตร และใช้เปลือกป่นบำบัดกลาก ใช้น้ำคั้นจากใบกินบรรเทาอาการจับไข้ (Burkill, 1966)