ตอกม่วงเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๔ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนรูปดาวและขนมีกิ่งสีน้ำตาล มีต่อมสีแดงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง มีช่องอากาศประปราย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนรูปดาวและขนมีกิ่งสีน้ำตาลประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า มีต่อมสีแดงกระจายทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. เป็นร่องตื้นทางด้านบน มีขนรูปดาวและขนมีกิ่งสีน้ำตาลหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๑.๓-๓.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๘ มม. ใบประดับรูปแถบถึงรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๐.๒-๕ มม. ขนาดเล็ก ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ดอกสีชมพูหรือสีชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๐.๖-๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ด้านนอกมีขนรูปดาวและขนมีกิ่งสีน้ำตาล มีต่อมสีแดงประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกยาว ๒.๗-๓.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายมนหรือเว้าบุ๋ม ขอบมีขนครุย ด้านนอกมีขนรูปดาว ขนมีกิ่ง และขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล มีต่อมสีแดงประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูติดภายในหลอดกลีบดอก ยาวพ้นกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีต่อมสีแดง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๓-๔ มม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีม่วงหรือสีชมพู ผิวเกลี้ยง เป็นมันวาว มีกลีบเลี้ยงติดทนที่โคนผล เมล็ดขนาดเล็ก
ตอกม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ บริเวณพื้นที่ริมลำธารและชายป่า ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงตุลาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่จีนและภูมิภาคอินโดจีน.