งวงชุ่ม

Combretum pilosum Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
เครือเขามวก (หนองคาย); ตีนตั่งตัวแม่ (ลำปาง)
ไม้เถาเนื้อแข็ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ดอกสีแดง แดงอมม่วง หรือชมพูอมม่วง ฐานดอกรูปถ้วย สีเขียวอ่อน มีขนทั้งด้านในและด้านนอก ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงรี มีปีก ๕ ปีก แผ่ออกคล้ายครีบ เมล็ดรูปกระสวย

งวงชุ่มเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๒๐ ม.เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจตื้น ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือมีขนสีขาวประปรายบนเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๓-๗ มม. มีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่อาจเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อปลายกิ่งยาว ๗-๒๔ ซม. ช่อที่ซอกใบยาว ๔-๑๕ ซม.ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. มีใบประดับคล้ายใบขนาดเล็ก รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. สีเขียว ด้านล่างมีขน ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ก้านช่อดอกย่อยยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. มีดอกจำนวนมาก มักเกิดเป็น


กลุ่มอยู่บริเวณปลายช่อดอกย่อย ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. หรือสั้นมาก ใบประดับย่อยรูปรี ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ดอกสีแดง แดงอมม่วง หรือชมพูอมม่วง สมมาตรตามรัศมี จานฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๗-๘ มม. สีเขียวอ่อน มีสันตามยาว ๕ สัน ตรงกับตำแหน่งแฉกกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นด้านในมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาว แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนล่างล้อมรอบและเชื่อมติดกับรังไข่ รูปรียาว ส่วนบนเหนือระดับรังไข่เชื่อมติดกับโคนกลีบเลี้ยง ผายออกคล้ายรูปกรวย แล้วแยกออกเป็นแฉกกลีบเลี้ยง ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอก ๕ กลีบ แยกจากกัน รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ ยาว ๔-๕ มม. ติดสลับกับแฉกกลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โผล่พ้นกลีบดอก ยาว ๑-๑.๓ ซม. ก้านชูอับเรณูสีม่วง เกลี้ยงติดกับอับเรณูด้านหลัง อับเรณูสีเหลือง ขนาดเล็กมากเกสรเพศผู้เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดแรกเรียงตรงข้ามกับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดต่ำกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ชุดที่ ๒ เรียงตรงข้ามกับแฉกกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูติดบริเวณตรงกลางของจานฐานดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรียาวประมาณ ๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ติดแบบห้อยลง ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ครึ่งบนเกลี้ยง ครึ่งล่างมีขนประปรายยอดเกสรเพศเมียแหลม

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มีปีกผล ๕ ปีก แผ่ออกตลอดความยาวของผล ลักษณะคล้ายครีบ แบน สีน้ำตาลหรือน้ำตาลทอง มีขนสั้นหรือเกลี้ยง เมล็ดรูปกระสวย มี ๕ เหลี่ยม กว้างประมาณ ๓ มม.

 งวงชุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าผลัดใบและป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๕๕๐ ม. ดอกมักออกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งวงชุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Combretum pilosum Roxb.
ชื่อสกุล
Combretum
คำระบุชนิด
pilosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
เครือเขามวก (หนองคาย); ตีนตั่งตัวแม่ (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ชุมพล คุณวาสี