ขมิ้น

Curcuma longa L.

ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นหัว (เชียงใหม่); ขมิ้นชัน (กลาง, ใต้); ขี้มิ้น, หมิ้น (ใต้); ตายอ, สะยอ (ก
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ภายในสีเหลืองสดหรือสีส้ม ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกที่ยอด ใบประดับที่ปลายช่อสีขาวหรือสีขาวแต้มด้วยขีดสีเขียวตามยาว ใบประดับที่โคนช่อสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปกระสวย เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือก

ขมิ้นเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าภายในสีเหลืองสดหรือสีส้ม ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูง ๗๕-๙๐ ซม. แต่ละต้นมีใบ ๔-๗ ใบ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๒-๑๕ ซม. ยาว ๕๐-๖๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ก้านใบเป็นร่อง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ลิ้นใบสั้นมากและเหี่ยวง่าย

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๒๕ ซม. ช่อดอกรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๑๓-๑๖ ซม. ประกอบด้วยใบประดับที่เรียงซ้อนกันและขอบของใบประดับจะเชื่อมติดกันจากโคนขึ้นมาเกือบครึ่งหนึ่งของความยาว ใบประดับที่ปลายช่อสีขาวหรือสีขาวแต้มด้วยขีดสีเขียวตามยาว ไม่มีดอก ใบประดับที่โคนช่อมีขนาดเล็กกว่าใบประดับที่ปลายช่อ สีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายแหลม มีขนละเอียด มีดอก ใบประดับย่อยรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมน ขอบโค้งเข้าหากัน กลีบเลี้ยงสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดผายออก ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายตัด แยกลึกลงด้านเดียว กลีบดอกสีขาวโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายผายและแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางกว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายคุ่มและเป็นติ่งหนาม แฉกข้าง ๒ แฉก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน



และคุ่มเล็กน้อย เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากสีเหลืองอ่อน และมีแถบสีเหลืองเข้มตามยาวกลางแผ่นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเว้า เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายมนเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาวประมาณ ๔ มม. โคนมีเดือย ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายถ้วยขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดจำนวนมากรูปกระสวย เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือก

 ถิ่นกำเนิดของขมิ้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการปลูกมานานอย่างแพร่หลายในประเทศเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทย

 ประโยชน์ เหง้าของขมิ้นใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งสีกลิ่น และรสของอาหาร ใช้เป็นสีย้อมผ้า ใช้เป็นสมุนไพรและเครื่องสำอาง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมิ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma longa L.
ชื่อสกุล
Curcuma
คำระบุชนิด
longa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นหัว (เชียงใหม่); ขมิ้นชัน (กลาง, ใต้); ขี้มิ้น, หมิ้น (ใต้); ตายอ, สะยอ (ก
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์