กรวย

Horsfieldia irya (Gaertn.) Warb.

ชื่ออื่น ๆ
กรวยน้ำ, กรวยสวน (กรุงเทพฯ); กะเพราพระ, เพราพระ (ชุมพร), จุมพร้า (นครศรีธรรมราช); ตือระแฮ, ระหัน, หั
ไม้ต้น เปลือกในมียางใสสีแดง โคนเป็นพอนและมักมีราก ใบรูปขอบขนาน เรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามง่ามใบ ดอกแยกเพศร่วมต้น สีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ออกเป็นพวง สุกสีส้มหรือแดงอมส้มเมล็ดใหญ่ มีเนื้อหุ้มสีแดงอมส้ม

 กรวยเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๕ ม. โคนต้นเป็นพอนมักมีรากค้ำ เรือนยอดแคบยาว ปลายกิ่งย้อยลู่ลง เปลือกสีน้ำตาลหรือเทา เรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เล็กน้อย เมื่อสับเปลือกจะมียางใสสีแดงไหลออกมามาก ตามเปลือกและกิ่งมีช่องอากาศทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น ขนานกัน ปลายโค้งขึ้นเสียบขอบใบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีนวล ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบ ยาว ๑๐-๑๖ ซม. มีขน ช่อดอกเพศผู้แตกแขนงแผ่กว้างกว่าช่อดอกเพศเมีย ดอกเล็กมาก สีเหลือง กลิ่นหอม มีจำนวนมากออกชิดกันแน่นเป็นกลุ่ม ๆ ตามแขนงช่อดอก วงกลีบรวมติดกัน ส่วนบนแยกเป็น ๒ แฉก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๑๐ อัน ดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด กลม ออกเป็นพวง พวงละ ๒-๕ ผล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. ผนังผลหนาสุกสีส้มหรือแดงอมส้ม ก้านผลยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. มี ๑ เมล็ด เมล็ดใหญ่ แข็ง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม หุ้มเมล็ดมิดหรือมีช่องเล็ก ๆ ที่ส่วนบน

 กรวยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนที่ราบตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองที่ติดต่อกับทะเล ในต่างประเทศพบตั้งแต่ศรีลังกาหมู่เกาะอันดามัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ชาวมาเลเซียใช้เปลือกต้มเป็นยากลั้วคอบำบัดอาการเจ็บคอ (Burkill, 1966).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กรวย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Horsfieldia irya (Gaertn.) Warb.
ชื่อสกุล
Horsfieldia
คำระบุชนิด
irya
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph
- Warburg, Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph (1732-1791)
- Warburg, Otto (1859-1938)
ชื่ออื่น ๆ
กรวยน้ำ, กรวยสวน (กรุงเทพฯ); กะเพราพระ, เพราพระ (ชุมพร), จุมพร้า (นครศรีธรรมราช); ตือระแฮ, ระหัน, หั
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข