เข็มแดง

Ixora lobbii Loudon

ชื่ออื่น ๆ
จะปูโย (นราธิวาส)
ไม้พุ่ม กิ่งก้านเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งดอกสีส้มหรือสีแดง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมสุกสีดำ เมล็ดรูปครึ่งวงกลม

เข็มแดงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งก้านเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอก กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๖ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง ทั้งช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๓ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาวได้ถึง ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ขอบและผิวทั้ง ๒ ด้านเกลี้ยง กลีบดอกสีส้มหรือสีแดงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๘-๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ซ้อนเหลื่อมไปทางซ้ายในดอกตูม แผ่กางออกเมื่อดอกบาน แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายแหลมหรือมน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดบริเวณคอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก อับเรณูรูปรี ยาว ๔-๔.๕ มม. แตกตามยาวรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ๔-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. สุกสีดำ เมล็ดรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด

 เข็มแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ixora lobbii Loudon
ชื่อสกุล
Ixora
คำระบุชนิด
lobbii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loudon, John Claudius
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1783-1843)
ชื่ออื่น ๆ
จะปูโย (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ