ต้างผาเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ลำต้นมีหนาม กิ่งอ่อนมีขนละเอียด
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๖-๘ ใบ รูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒๐-๕๐ ซม. บริเวณโคนแผ่คล้ายกาบ หูใบอยู่ในซอกก้านใบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดทน ก้านใบย่อยยาว ๓-๖ ซม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ๘-๓๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม แต่ละช่อย่อยมี ๑๔-๓๒ ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๕ มม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกเป็นอิสระ เรียงสลับกับกลีบดอก อับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม.
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๖-๙ มม. ก้านช่อผลยาว ๔-๒๐ ซม. เกลี้ยง แต่ละช่อมี ๘-๑๘ ผล ก้านผลยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ยาว ๒-๓ มม.
ต้างผามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๒,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ประโยชน์ ช่อดอกอ่อนรับประทานได้.