ตังหน ๔

Calophyllum macrocarpum Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ชวด (ตรัง)
ไม้ต้น ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปรี เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่ขนานกัน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี สุกสีเขียวแกมสีเหลือง เมล็ดรูปคล้ายผล

ตังหนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. บางครั้งมีพูพอนขนาดเล็ก ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปรี กว้าง ๓-๔.๕ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่ขนานกัน ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้


ปลายยอด ยาว ๓-๖.๕ ซม. ช่อดอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง มี ๕-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๗-๓.๓ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ชั้นนอกรูปไข่ถึงค่อนข้างกลมกว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ชั้นในรูปรีถึงรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปลิ้นกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๘ ซม. ด้านนอกมีขนสั้น กลีบดอก ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ลักษณะเป็นแถบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูติดที่ฐาน มี ๒ พู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยงมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี กว้าง ๔.๕-๕ ซม. ยาว ๖.๕-๘ ซม. สุกสีเขียวแกมสีเหลือง เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตังหนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๒๕๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย (บอร์เนียว)

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างหรือทำเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตังหน ๔
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum macrocarpum Hook. f.
ชื่อสกุล
Calophyllum
คำระบุชนิด
macrocarpum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ชวด (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์