จันทน์ป่า ๑

Myristica cinnamomea King

ไม้ต้น เปลือกขรุขระ มียางสีแดง ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อแขนงแบบช่อกระจุกหรือกึ่งช่อซี่ร่ม ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก รูปทรงรีหรือคล้ายรูปทรงกระบอก เมล็ดรูปคล้ายผล เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงจักเป็นริ้วถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มี ๑ เมล็ด

จันทน์ป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. กิ่งเรียวยาว เปลือกนอกขรุขระ พบบ้างที่แตกเป็นแผ่นเกือบเกลี้ยง ไม่มีช่องอากาศ เปลือกในสีน้ำตาลหรือสีชมพูอ่อน มียางสีแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๘-๒๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม กว้างหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวมะกอก ค่อนข้างเป็นมันด้านล่างสีเทาหรือสีน้ำตาลอมสีเงิน มีขนสั้นแน่น เห็นไม่ชัด และมีขนยาวสีน้ำตาลประปราย เส้นกลางใบเรียบทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๗ เส้น เป็นร่องทางด้านบน เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๒-๒.๒ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อแขนงแบบช่อกระจุกหรือกึ่งช่อซี่ร่มใบประดับรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. ร่วงง่าย ก้านช่อดอกมีขนละเอียด ช่อดอกเพศผู้ยาว ๑-๒.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. แขนงช่อดอกยาวได้ถึง ๕ มม. แกนกลางยาวได้ถึง ๑ ซม. แต่ละช่อแขนงมี ๕-๑๐ ดอก ดอกตูมมีขนาดต่างกัน ช่อดอกเพศเมียมีก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๓ มม. มีปุ่ม แต่ละช่อแขนงมี ๒-๔ ดอก ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียมีกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูประฆัง พบบ้างที่เป็นรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๒ หรือ ๔ แฉก ปลายแฉกแหลม มักโค้งกลับ ดอกเพศเมียกว้างกว่าดอกเพศผู้ดอกเพศผู้ใบประดับย่อยยาว ๑-๒ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. ดอกตูมรูปรีแกมรูปขอบขนาน ค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอกหรือคอดตรงส่วนกลาง กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. ปลายค่อนข้างเป็นเหลี่ยม แฉกลึก ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบรวม เกสรเพศผู้ ๑๒-๑๖ เกสร ยาว ๓.๕-๔.๕ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นก้านเส้าเกสร ก้านชูอับเรณูกว้าง ๐.๖-๑ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. มีขนสั้นประปราย อับเรณูชิดกัน รูปขอบขนานแกมรูปรี ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๒.๕-๔ มม. ดอกตูมรูปไข่แกมรูปรี บริเวณปลายเป็นเหลี่ยม กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. แฉกลึก ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบรวม ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเกือบกลมหรือรูปไข่แกมรูปกรวย กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีขนสั้น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก แยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อ เมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก รูปทรงรีหรือคล้ายรูปทรงกระบอก กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. โคนกลมหรือกึ่งสอบเรียวเปลือกหนา มีขนละเอียดสีสนิมหนาแน่น ช่อผลยาว ๐.๕-๒ ซม. แต่ละช่อมีผล ๑ หรือ ๒ ผล พบบ้างที่มี ๓ ผล ก้านผลบวมพอง ยาว ๐.๕-๑ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผลกว้าง ๑.๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๕.๕ ซม. สีดำ เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จักเป็นริ้วแยกถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มี ๑ เมล็ด

 จันทน์ป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้เหมาะสำหรับงานโครงสร้างชั่วคราว ทำไม้อัด หีบใส่ของ เครื่องแกะสลัก และทำฟืน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์ป่า ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myristica cinnamomea King
ชื่อสกุล
Myristica
คำระบุชนิด
cinnamomea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา