ขวาดเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกนอกสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม ผิวเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่ กว้าง ๒.๔-๔.๗ ซม. ยาว ๕.๓-๑๑.๒ ซม. ปลายแหลม โคนสอบรูปลิ่ม แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๒๐ เส้น ก้านใบยาว ๔-๘ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๒ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก ดอกสีขาวแกมเขียว หรือเหลืองอ่อน ช่อย่อยมักมี ๓ ดอก ดอกตรงกลางมักไม่มีก้านดอก ส่วนดอกข้าง ๒ ดอกมีก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปรีหรือค่อนข้างกลม กลีบดอก ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ขนาด ๔-๖ มม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรรอบนอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูแยกจากกัน อับเรณูขนาดเล็กมาก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปกรวย ยาว ๕-๘ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑๒-๒๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๑-๑.๓ ซม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปกลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. ปลายผลมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมล็ดรูปไข่ กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด
ขวาดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าพรุ ตามลำธาร ในป่าดิบ หรือชายฝั่งทะเลตามพื้นที่ในป่าทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้ทำด้ามเครื่องมือ.