กระทงลายเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นไปได้ไกลถึง ๑๐ ม. เถามีเปลือกขนาดใหญ่ ปริออกจากกันตามยาว ขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งมีช่องอากาศอยู่ทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปกลม กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม มน หรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบหรือมน ขอบจักเป็นคลื่นถี่ ๆ เส้นแขนงใบคู่ล่างสุดออกจากโคนใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยงก้านใบยาว ๐.๘-๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๘ ซม. มีขนประปราย ดอกแยกเพศ ขนาดเล็ก สีขาวอมเหลืองมีจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายรูประฆัง มีขนสั้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ ยาว ๒-๓ มม. จานฐานดอกลักษณะคล้ายรูปถ้วย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ อัน และมีเกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็กกว่าเกสรเพศผู้ ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มี ๓ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกมักแยกออกเป็น ๒ ง่าม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. ผลแก่สีส้มอมเหลือง แตกตามผนังออกเป็น ๓ ซีก มี ๓-๖ เมล็ด รูปไข่ มีเนื้อสีแดงอมน้ำตาลหุ้มโดยรอบ
กระทงลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งในป่าผลัดใบและป่าละเมาะ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย
น้ำมันจากเมล็ดใช้ตามไฟหรือเคลือบกระดาษกันน้ำซึมเปลือก ใบ ผล และเมล็ดใช้ทำยาได้ (ก่องกานดา ชยามฤต ๒๕๒๘).