เข็มดาวาวเป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ สูง ๒-๓ ม. แตกกิ่งแน่น เปลือกเรียบ สีน้ำตาลเทา กิ่งอ่อนมีสีเขียวอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนสั้นประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายโค้งเชื่อมติดกันใกล้ขอบใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. สีเขียวถึงสีแดงเข้มหูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๖ มม. ยาว ๓-๔ มม.ปลายเรียวแหลม สีเขียวอ่อน อาจมีเส้นคล้ายเส้นด้ายเล็ก ๆ ที่ปลาย ๓-๕ เส้น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก ๑๔-๒๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกสั้นมาก ก้านช่อดอกย่อยยาว ๑-๖.๕ ซม. มีใบประดับรองรับ ลักษณะเหมือนใบปกติแต่ขนาดเล็กกว่า กว้าง ๐.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๕.๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก ด้านบนสีแดงอมชมพู ปลายสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่าติดทน ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่สั้น ๓ แฉก ยาว ๑ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๔-๑.๗ ซม. ปลายแหลมกึ่งป้าน แผ่นกลีบบาง เห็นเส้นกลีบชัดเจน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. ด้านนอกสีแดง ด้านในสีขาว คอหลอดกลีบดอกมีขนสั้นประปราย ปลายหลอดแยกเป็น ๔ แฉก รูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ ด้านบนสีขาวถึงสีเหลืองนวล ด้านล่างสีแดงอ่อน ดอกตูมขอบกลีบพับเข้า เมื่อบานเต็มที่จะพับลงแตะหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดอยู่ระหว่างแฉกกลีบในหลอดกลีบดอก ลึกจากปากหลอดประมาณ ๓ มม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ๓-๔ มม. ก้านชูอับเรณูสีเหลืองนวลอับเรณูสีม่วงเข้ม รูปขอบขนาน ยาว ๒-๒.๕ มม. มี ๒ พู หันเข้าด้านใน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. สั้นกว่าหลอดกลีบดอก โคนสีแดง ปลายสีเหลืองอ่อน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒-๓ แฉก รูปทรงกระบอกแบนหรือรูปใบหอก ปลายมน ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. สีเหลือง ในดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดกลีบดอก อับเรณูโผล่พ้นหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ แฉกกลีบเลี้ยงมีลักษณะคล้ายปีกสีน้ำตาลแต่ละช่องมีเมล็ดที่สมบูรณ์เพียง ๑ เมล็ด
เข็มดาวาวเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาและมาดากัสการ์ นำไปปลูกในหลายประเทศในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์.