ตังหนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. บางครั้งมีพูพอนขนาดเล็ก ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่ขนานกัน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. ช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม มี ๓-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ดอกสีขาว กลีบรวม ๔-๘ กลีบ เรียงเป็นวง ๒-๔ ชั้น กลีบรวมคู่นอกรูปไข่ถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มที่ปลายและขอบกลีบ กลีบรวมคู่ถัดไปรูปไข่กลับหรือรูปลิ้น กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๘ มม. ด้านนอกเกลี้ยง กลีบรวมคู่ในสุด ๒ คู่มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่กลับหรือรูปลิ้นกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. หรือกลีบรวมคู่ในสุดรูปใบหอกกลับแกมรูปรี กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๓๖-๘๖ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูติดที่ฐาน มี ๒ พู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลมยาว ๑-๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กว้างถึงรูปทรงกลม ยาว ๐.๕-๑ ซม. สุกสีเขียวเข้มเกือบดำเมล็ดรูปคล้ายผล
ตังหนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคใต้ พบตามป่าพรุและป่าดิบชื้นโดยเฉพาะใกล้แหล่งน้ำที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงมกราคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายนในต่างประเทศพบที่เวียดนาม กัมพูชา จนถึงบอร์เนียว
ประโยชน์ ใบอ่อนรับประทานได้.