คางเป็นไม้ต้นสูง ๑๐-๒๐ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลแกมเทา
ใบประกอบแบบขนนกสองชั่นปลายคู่ เรียงเวียนก้านใบยาว ๓-๕ ซม. แกนกลางใบยาว ๓-๙ ซม. มีต่อมที่ปลายแกนกลางระหว่างรอยต่อของก้านแขนงคู่บนและที่ค่อนไปทางปลายก้านใบแห่งละ ๑ ต่อม หูใบเรียวเล็กและบาง ร่วงง่าย ช่อแขนงใบเรียงตรงข้าม ๒-๔ คู่ ก้านช่อย่อยยาวประมาณ ๑ ซม. แกนกลางช่อย่อยยาว ๖-๑๑ ซม. แต่ละช่อแขนงมีใบย่อย ๓๐-๕๐ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานกว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๗-๒ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. มีขนนุ่ม ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น มีดอก ๑๐-๑๕ ดอก สีขาวนวลถึงสีเหลืองอ่อนกลีบเลี้ยงโคนติดเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาวพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๔-๕ มม. อับเรณูเล็กมาก รูปค่อนข้างกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดคล้ายเลนส์นูน ทรงรูปไข่ถึงรูปโล่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. สีนํ้าตาล เรียงในแนวขวาง มี ๘-๑๐ เมล็ด
คางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบและป่าเบญจพรรณแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย.