ขวากไก่เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นสีเขียวอมเทา สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมดำ กลมหรือเป็นเหลี่ยม ไม่มีช่องอากาศ มีหนามที่ง่ามใบ มือพันไม่แยกแขนง มีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงรูปค่อนข้างกลม รูปใบหอกถึงรูปไข่ กว้าง ๑-๕.๘ ซม. ยาว ๑.๕–๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน อาจมีติ่งหนาม โคนแหลมถึงตัด หรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบคล้ายกระดาษ เกลี้ยง หรือมีขนสั้นตามเส้นกลางใบ และตามโคนเส้นใบ มีเส้นโคนใบ ๓–๕ เส้น จากโคนใบจรดปลายใบ เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน ก้านใบยาว ๐.๑–๑ ซม. หูใบลดรูปเหลือเป็นแนวนูนบริเวณโคนก้านใบ เกลี้ยง หรือมีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ยาว ๐.๕-๒ ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก หรือยาวได้ถึง ๙ มม. มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๐-๒.๕ มม. ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ถึงกลม ยาว ๐.๙-๑.๗ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๖-๒.๔ มม. ปลายแยกเป็นแฉกค่อนข้างหนา ๕ แฉก ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยง มีขนหรือเป็นตุ่ม ที่ปากหลอดด้านในมักมีขนเป็นวง เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ภายในกึ่งกลางหลอดดอกและยาวพ้นปากหลอด ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๒-๐.๖ มม. อับเรณูรูปไข่ ยาว ๐.๖-๐.๙ มม. มีขนเป็นแผง ปลายแกนอับเรณูมักจะมีติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก รังไข่รวมก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๒.๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม หรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๕ ซม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีส้ม หรือสีแดง เปลือกบาง เรียบ มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. หนาประมาณ ๓ มม. ผิวเกลี้ยง
ขวากไก่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นได้ตามป่าทุกชนิด ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังคลาเทศ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสเตรเลีย
ราก ลำต้น และใบ ใช้เป็นสมุนไพร เส้นใยจากลำต้นใช้ทำเชือก.