ตังหนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. บางครั้งมีพูพอนขนาดเล็ก ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายยอดและตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อยาว ๔.๕-๖ ซม. ช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม มี ๗-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ชั้นนอกรูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. ด้านนอกบริเวณโคนกลีบมีขนสั้นนุ่มประปราย ชั้นในรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มประปราย และหนาแน่นมากขึ้นที่บริเวณโคนกลีบ หรือเกลี้ยง กลีบดอก ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔๖-๗๐ เกสรก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูติดที่ฐาน มี ๒ พู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑.๓-๑.๕ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่กว้าง ๑.๕-๑.๗ ซม. ยาว ๑.๗-๒ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผล
ตังหนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๕๐-๑,๒๐๐ ม.
ประโยชน์ ลำต้นใช้ก่อสร้าง.